วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Introduction to Juggling

วันนี้เป็นการเรียนที่เหนื่อยมากกก นึกว่าไปเรียนพละมาให้ตายเหอะ แน่นอนว่าตามสัญญาอาจารย์ก็เริ่มสอนการโยนจั๊กกลิ้ง (เขียนทับศัพท์แล้วแอบน่าเกลียดนะ) โดยเริ่มโยนลูกเดียวให้คุ้นมือ แล้วค่อยโยน 2 ลูกไขว้นับหนึ่งสองอันนี้ยังพอชิวๆ ต่อมาก็ลุย 3 ลูกกันเลยซึ่งโอ้ว! ยากอะ ป่านนี้ยังไม่ค่อยได้เลย ระหว่างนี้เหมียวๆ ก็มาทำสัญญาใจแลกเปลี่ยนลูกจั๊กกลิ้งกับเราซึ่งเราก็เริ่มชินมือแล้ว ซึ่งก็ถือว่าดีนะเพราะลูกจั๊กกลิ้งเรามันเหม็นหยั่งกะซอสปาดหน้าปลาในแฮมเบอร์เกอร์ของแม็คกินมั่ง (ซึ่งเหมียวบอกว่าอร่อยจะตาย 555+) ยังไงก็เหอะประเด็นคือเมื่อยมากกก เพราะด้วยฝีมืออันแกร่งกล้าทำให้เราก้มๆ เงยๆ เก็บลูกไม่รู้กี่หน ปวดบั้นเอวจริงๆ ขาด้วย เมื่อยไปทั้งเนื้อทั้งตัวจนนึกว่าติดหวัด 2009 เลย แต่ว่าก็สนุกดีถึงจะเริ่มโยนได้นิดหน่อย ขณะที่คนอื่นๆ ในห้องโยนเป็นกันเร็วมาก แต่นั่นแหละอย่าไปเปรียบกับคนอื่นสิเนอะ ก็แต่ละคนมีทักษะต่างกันบ้างอะไรบ้าง

การเรียนวันนี้อาจารย์ก็สอนเรื่องการคิดแบบตรงกันข้ามซึ่งอาจจะช่วยเราหาคำตอบของปัญหาได้อย่างเช่น อยากสัมภาษณ์งานได้ก็คิดว่าจะทำยังไงให้เขาไม่รับเราแทน อย่างตบหัวคนสัมภาษณ์อะไรงี้ ซึ่งเราไม่ทำอย่างนั้นซะก็สิ้นเรื่อง เป็นต้น แล้วก็หัดตั้งคำถามว่า What If? เช่นจะเกิดอะไรถ้ามนุษย์ต่างดาวมีจริงประมาณนี้ ก็จะทไห้ได้ไอเดียบรรเจิดใหม่ๆ ตามมามากมาย ซึ่งก็เป็นวิธีคิดของหนังฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง

นอกจากนี้ก็มีเซอร์ไพรส์คือมีการบันทึกเทปจาก TCDC ว้าว! ไฮโซ เพิ่งเคยได้ยินชื่อบริษัทนี้อะ แต่ของเขาน่าสนใจมากๆ เลยทั้งจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์มากมายหลายรูปแบบ แถมพี่ๆ แต่ละคนที่มานี่หน้าตา ทรงผม เครื่องแต่งกายแนวได้อีก เข้ากับภาพลักษณ์ของบริษัทสุดๆ ปลาบปลื้มจนอยากไปสมัครงานที่นี่มั่ง จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ สวยๆ งามๆ แบบนี้เพื่อสังคม แถมยังได้ทำตัวแนวๆ แบบพี่ๆ เขาด้วย อิอิ

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หนีตามกาลิเลโอ


เพิ่งได้ดูเรื่องนี้มา ฮูเร่! สนุกดีนะ เราชอบมากๆ เลย ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ก็คือคนเดียวกับ Seasons Change นั่นแหละ ขี้เกียจจำว่าชื่ออะไร แต่จะบอกว่าตาคนนี้ทำหนังเรื่องไหนเป็นได้ตรงกับชีวิตเราช่วงนั้นพอดี อย่างตอนเรื่องแรกนั่นก็รู้สึกจะดูตอนปี 1 ซึ่งกำลังแซ้ดเล็กๆ ที่มาเรียนวิศวะ เนื้อเรื่องของพระเอกเรื่องนั้นมันช่างตรงสุดๆ พอมาเรื่องนี้ก่อนอื่นขอแนะนำว่าคนที่เคยไป Work & Travel ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะความรู้สึกของการเป็นคนนอกในต่างแดน หรือพูดง่ายๆ คือเป็นกะเหรี่ยงนั่นเอง ในเรื่องนี้ช่างสื่อได้ดีเหลือเกิน (จริงๆ อาจไม่ได้ดีเท่าไหร่หรอกแต่เผอิญไม่มีหนังเรื่องไหนที่นำเสนอด้านนี้เลย) พฤติกรรมของเด็กไทยอันลือเลื่องอย่างเช่นด่าฝรั่งต่อหน้าด้วยภาษาไทยเพราะมันฟังไม่รู้เรื่อง หรือนิสัยภาคภูมิใจกับการได้ลักเล็กขโมยน้อยและไม่เคยมองว่ามันเป็นเรื่องผิดตรงไหน เราดูไปก็ได้แต่อุทานว่า ...ข้าก็เคยทำแบบนี้มาแล้ว เอาเป็นว่าโดนมากมายขอบอก


เราอยากพูดถึงนักแสดงเรื่องนี้มาก เริ่มจากต่ายก่อนละกัน จะพูดว่าเล่นดีที่สุดในเรื่องก็คงจะไม่เกินจริงไปนัก เธอคนนี้สามารถจริงๆ ขอการันตี เพราะนอกจากบุคลิกจริงจะดูคล้ายๆ กับตัวละครแสนห่ามและหัวแข็งของเธอแล้ว ซีนอารมณ์ทุกอันก็แสดงได้ขาดลอย ซดน้ำตาโฮกๆ กินอิ่มละงานนี้ แววนักแสดงวัยรุ่นตัวแม่เริ่มจับสุดๆ ต่อมาก็เต้ย แลคโต๊ะ! น่ารักมาก แบบอภิมหาโศกวิโยคภัยมากจริงๆ อะ คือเหมือนไม่ได้แสดงเพราะเป็นคนแบบนั้นจริงๆ บ๊องๆ โก๊ะๆ แต่เจือกไม่หยุดน่ารักเลยซักวิอะ ไม่รู้จะบรรยายยังไงไปดูเอาเองละกัน แค่จะบอกว่าเห็นคาแรคเตอร์เต้ยแล้วนึกถึงเพื่อนหลายๆ คนที่เคยไปเวิร์คด้วยกัน นิสัยหลายคนเป็นแบบตัวละครนี้จริงๆ สุดท้ายก็เรย์ ก็อีกคนที่หยั่งกะไม่ได้แสดง คือติสท์แตกเป็นอาจิณอยู่แล้ว ก็เลยเห็นยังไงก็หยั่งงั้นแหละ


เรื่องนี้มีหลายซีนที่ประทับใจมาก เราชอบฉากที่เต้ยโดนตำรวจจับมาก คือดูแล้วมีอารมณ์ร่วมสุดๆ เพราะแอบมีประสบการณ์ตรงนิดนึง ตอนนั้นเด็กไทยถูกไล่ออกจากงานอะแล้วบรรยากาศมันแบบนี้เลย คือเราก็ได้แต่ยืนมองเพื่อนเซ็นเอกสารแล้วก็เดินออกไป อยากจะช่วยแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ฝรั่งแถวนั้นมันก็ยืนมองแค่กะเหรี่ยงคนหนึ่งที่โดนไล่ออกจากงานอะ ความรู้สึกมันคอยย้ำว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา เราเป็นเพียงคนนอกในประเทศของเขาและไม่มีใครจะใส่ใจช่วยเหลืออะไรเราหรอก เหงาได้อีก อีกฉากที่แนวมากคือตอนที่สื่อสารในร้านขายยาด้วยทอล์คกิ้งดิกท์ ที่กดเสียง f*ck you ซ้ำๆ พร้อมกับกล้องที่แพนออกมาด้านนอกร้านนี่ฮาปนเศร้าสุดๆ อีกฉากไอเดียเจ๋งๆ ก็ตอนชูป้ายภาษาไทยบนถนนชองซาลิเซ่นั่นแหละ ช่างคิดแถมโรแมนติกดี นอกนั้นซีนอารมณ์ทั้งหลายที่ต่ายโซโล่เดี่ยว ก็เศร้าได้โล่ ยอมรับว่าอินอย่างแรง รวมถึงตอนที่เต้ยทำอะไรก็ตามบ้าบอคอแตก อยากจะบอกนะว่าขำมาก น่ารักตะพึดตะพือ และเหนือสิ่งอื่นใด เพลงแค่ได้คิดถึงของญารินดาในฉากจบ กรี๊ด! ยอดเยี่ยมที่สุด ในที่สุดก็มีคนเล็งเห็นถึงความวิจิตรทุกกระเบียดนิ้วของเพลงนี้เสียที เข้ากั๊นเข้ากันกับฉากหลังของยุโรป และมิตรภาพอันงดงามของสองสาว


ก็ขอฝากให้ไปดูเรื่องนี้โดยเฉพาะคนที่เคยมีประสบการณ์เป็นกะเหรี่ยงในต่างแดน เรื่องนี้มันไม่สมบูรณ์แบบหรอก ข้อบอพร่องถ้าจะให้พูดจริงๆ ก็เยอะแหละ แต่ความโดนใจมันบังตาไปหมดแล้ว เราชอบเรื่องนี้มากกว่า Seasons Change อยู่มากด้วยความที่มีธีมที่ทั้งแปลกและแตกต่าง บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เหมือนใครซึ่งเป็นแง่มุมที่ช่วยเตือนสติใครหลายๆ คนได้ดีมาก สองสาวมีต้นเหตุในการเดินทางด้วยกันครั้งนี้แตกต่างกัน แต่เหมือนกันตรงที่ต่างก็เดินทางเพื่อพิสูจน์บางสิ่ง (ก็เลยเป็นที่มาของชื่อกาลิเลโอ) อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทั้งสองได้พิสูจน์ว่าแล้วเป็นสัจนิรันดร์ กลับเป็นมิตรภาพของเธอทั้งสองแทน


...จบซะเน่าเชียวกรู

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Dead Poets Society

สำหรับ blog นี้เราอยากจะกระแดะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหาอาจขาดๆ หายๆ เพราะนึกไว้ตั้งแต่ตอนดูจบใหม่ๆ โน่นเลยลืมเกือบหมดแล้ว มีสปอยล์นะแต่ก็นั่นแหละ ดูพร้อมกันหมดนี่เนอะ

I was so glad that after watching Dead Poets Society for a while it didn't come across as one of those 'Hey! I'm a new teacher with weird teaching technique who somehow manages to make my class win at something and y'all are gonna love me' movies. This film saved itself quite well from falling into that lame category thanks to high-degree drama towards its ending which I personally thought was the crucial factor to take this Academy-Award nominated movie to the next level. If certain graph were plotted to show changes of emotion along the length of the film, a steady line would be drawn from the start until the climax in its third quarter, the death of Neil, where every characters' emotion peaked and since then was literally one hell of a tear festival, when a graph would change into a crazy line like pulses of someone who has a heart attack.

Robin Williams as Mr. Keating was surprisingly subtle and fairly convincing. Considering it's a challenging role particularly for a comedian, so there's no wonder why he got nominated for Best Actor award, but frankly watching this movie, I couldn't care less about him because, you know, it's Robin Williams after all. The cast of students was good but I'm not gonna go through them one by one since I have no idea who these actors are, well, except Ethan Hawke, Uma Thurman's ex-husband who now looks like a random UK rock band's guitarist who's always on crack. His boyish look back then surprised me so hard but that's not so important as the story of his character, Todd, who I relate to the most. Yes, I used to be one of those quiet and introvert guys and I still am, so the scene when Todd was dragged by Mr. Keating to the front of the class to spontaneously come up with poems was undoubtedly my favortie scene and the best moment of the film so far. I'm not gonna lie that I was literally about to give him a big round of applause as if I were in that classroom in 1959.

Mr. Keating is no hero. I appreciate that the movie didn't make any judgement on him and I couldn't ask for the better ending than in which Mr. Keating felt regretful of what he might have influenced his students and was finally terminated from the school. It's such a heart-warming yet realistic ending that didn't spoil viewers with excessive daydreaming or fit in happily ever after cliche because there was something much more beautiful in this film than just a rainbow spewing. At least in this last goodbye not only the students learnt a great deal from their teacher but Mr. Keating himself also experienced the lesson of his lifetime from his 16-year-old students.

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หญิงก้า

หญิงก้าที่รัก

ชายเขียนถึงหญิงก้าหนนี้ด้วยความเป็นห่วง เห็นหน้าอกก้าระเบิดเป็นไฟเย็นครานั้นแล้ว ชายเป็นกังวลจนกินก็ไม่ได้นอน นอนก็ไม่ได้กิน ป่านนี้แผลพุพองคงทุเลาลงแล้ว หญิงก้าคงสบายดีใช่ไหมจ๊ะ ชายเพียรถามก็เพราะรัก หวังว่าก้าคงไม่ใส่ใจเป็นรำคาญ

ไม่นานนี้ชายเอาแต่ฟังบทเพลงของหญิงก้า ก้ารู้ไหมว่าคนทั้งบางเขาร่ำลือถึงชื่อเสียงของก้า ชายเองก็ได้แต่ปลื้มปีติเพราะชายเองก็ชื่นชอบผลงานของก้าเช่นกัน แผ่นเสียงของหญิงก้าแผ่นนี้บรรจุบทเพลงไพเราะเยอะแยะไปหมด ตั้งแต่บทเพลงโด่งดังอย่าง "ไม่ว่างกำลังเต้น - Just Dance" กับ "หน้าเป็นเล่นป๊อกเด้ง - Poker Face" ที่แม้ว่าจะฟังแล้วเหมือนกันเพียงไร แต่ต่างก็เป็นบทเพลงเต้นรำที่มีเอกลักษณ์ และกระตุ้นให้อยากลุกขึ้นมาดิ้นพล่านดีเสียจริง "เกมรักหักสวาท - Lovegame" นั้นเดินตามขนบบทเพลงเต้นรำอิเลกโทรนิกอย่างมิมีผิดเพี้ยน แต่มีท่อนสร้อยที่ฉลาดเฉลียวและตราตรึงใจยิ่งนัก "อุ๊ย อุ๊ย มิเอามิพูด - Eh Eh (Nothing Else I Can Say)" หรือก็แว่วสำเนียงคล้ายบทเพลงแบบที่คนขาวชาวยุโรปเขาชอบทำกัน ก้าเองก็ทำออกมาได้เสนาะหูไม่แพ้กันจ้ะ หรือกับบทเพลงที่จังหวะช้าลงพอให้ชายได้โยกอย่าง "ปัปรสี - Paparazzi" ก็ไพเราะฝังลึกลงในรูหูชายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทเพลงชื่อเดียวกับแผ่นเสียง "ชื่อเสียง - The Fame" เสียงดีดกีตาร์ในเพลงนี้ถูกใจชายมาก หรือแม้แต่ "หนุ่มคิมหันต์ - Summerboy" ที่ชายได้ฟังแล้วรู้สึกราวกับหญิงก้าไปลอกเลียนศิลปินแม่ลูกอ่อนท่านหนึ่งมาอย่างไรก็อย่างนั้น แต่ชายก็ยังโปรดปรานในท่วงทำนองแบบสกากับบรรยากาศริมชายหาดยามอาทิตย์อัสดง และความไพเราะชั้นเลิศที่ยากจะปฏิเสธ

หญิงก้าจ๊ะ อย่างไรก็ดีชายยังคิดคำนึงว่าบทเพลงอื่นๆ ในแผ่นเสียงนี้ไม่เสนาะจิตเท่าที่ควรเลย คล้ายว่าก้าไม่มีเวลาทำแล้ว จึงต้องเอาเสียงในบทเพลงก่อนๆ มาตัดแปะรวมกันเป็นบทเพลงใหม่ ชายขอกล่าวอย่างจริงใจว่าบางบทเพลงนั้นช่างน่าเบื่อและน่าสะอิดสะเอียนเหลือเกินจ้ะ

แผ่นเสียงชุด "ชื่อเสียง" ของหญิงก้าแผ่นนี้บอกกล่าววิถีชีวิตอันหรูหรา ฟุ่มเฟือย และสุรุยสุร่ายของชนชั้นผู้มีชื่อเสียงท่ามกลางวัฒนธรรมป๊อบและลัทธิวัตถุนิยมได้เห็นภาพชัดแจ้งยิ่งนัก สุดท้ายนี้ชายขอสารภาพว่าหลงรักก้าเข้าแล้ว ชายสัญญาว่าจะรักเล็กๆ แต่ขอรักนานๆ และจะตั้งตารอแผ่นเสียงใหม่ของก้านะจ๊ะ ระหว่างนี้ชายได้แนบรูปเครื่องแต่งกายของโลกหน้าที่หญิงก้าชอบสวมใส่ให้ปัปรสีรุมชักภาพ ให้ก้าดูเล่นยามว่างนะจ๊ะ

(ขอบคุณรูปภาพจากจัดเจร็ด - Just Jared)

รัก

ชายเอง

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

You shouldn't end a sentence with a preposition at.

เราดู 30 Rock แล้วขำกับประโยคนี้มาก

You shouldn't end a sentence with a preposition at.

แค่นี้แหละจบ ขำมั๊ยอะ จะมีใครเข้าใจเรามั๊ยเนี่ย

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ว๊ายวาย

Innovative Thinking คราวนี้มาเรียนต่อกลยุทธ์เดิมเรื่อง Attribute Listing อาจารย์ให้ทำกิจกรรมกลุ่มออกแบบมือถือสุดล้ำแล้วออกไปพรีเซนต์หน้าห้องโดยให้ลองนึกคุณสมบัติที่พึงมีของโทรศัพท์มือถือแล้วคิดหาไอเดียสุดแหวกตามคุณสมบัติข้อนั้นๆ กลุ่มเรามือถือหน้าตาออกมาเหมือนกระดูกหมา แถมดันวาดออกมาไม่เหมือนอีกกลายเป็น ...อะไรดีล่ะ ประมาณคอมฟอร์ทร้อยมั้ง 555+ ต้องออกไปพรีเซนต์กลุ่มแรกเลยตื่นเต้นดี ไม่ได้หน้าชั้นเรียนมานานแล้ว ได้ทำอะไรแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน

ต่อมาก็เรียนกลยุทธ์ที่สามซึ่งก็คือการตั้งคำถาม เราควรจะตั้งคำถามโดยใช้คำว่าโดยวิธีใดบ้าง มากกว่าจะใช้คำว่าอย่างไร เพราะความคิดจะได้ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่อย่างเดียว นอกจากนี้ก็มีวิธีตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์หลากหลายแบบ เริ่มจาก Why-Why Analysis ซึ่ง ...อูว์ เราหลอน ตอนฝึกงานที่ฝึกงานเราเขาใช้ไอ้นี่ยันเลย แบบว่าเวลามีเครื่องจักรเสียก็จะมานั่งว๊ายวายกันนี่แหละ แต่ว่าจริงๆ เราก็ไม่ค่อยจะเกี่ยวหรอก พวกภาคเครื่องน่าจะหลอนกว่าเพราะโดนเต็มๆ กิจกรรมต่อมาอาจารย์ก็เลยให้ลองทำว๊ายวายดูสักอัน เราเลือกทำหัวข้อว่าทำไมเราถึงเขียนโปรแกรมไม่เก่ง ไปๆ มาๆ คิดไม่ค่อยออกง่ะ ว๊ายวายออกมาเล็กๆ สั้นๆ ไปซะงั้น แต่เราว่าดีนะ อย่างเวลาคิดอะไรไม่ออก ถ้าลองทำว๊ายวายดูคงจะช่วยได้เยอะเลยล่ะเพราะว่าเจาะลึกต้นเหตุปัญหาถึงไส้ในเลย แหล่ม...

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Role Models

Do what you know best
Tina Fey

ทีน่า เฟย์ นักเขียนบทคอมเมดี้ชาวอเมริกันวัย 39 กะรัตผู้ประสบความสำเร็จในวงการโทรทัศน์สูงสุดคนหนึ่ง เธอได้รับรางวัลการันตีความสามารถมากมายทั้งแซก เอมมี่ ไปจนถึงลูกโลกทองคำ จากซีรีย์สตลกขวัญใจนักวิจารณ์ 30 Rock ที่เธอทำหน้าที่ตั้งแต่โปรดิวซ์ เขียนบท ไปจนถึงแสดงนำ ผลงานสร้างชื่ออื่นๆ รวมถึงหนังตลกวัยรุ่น Mean Girls นำแสดงโดยลินด์ซีย์ โลฮาน และเรเชล แม็คอดัมส์ นอกจากนี้เธอยังเป็นศิษย์เก่าของ Saturday Night Live วาไรตี้โชว์สุดฮิตเป็นเวลาช้านานของอเมริกา โดยบทบาทที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงสูงสุดของเธอคงจะไม่พ้นทุกมุกที่ล้อเลียน Sarah Palin ด้วยความที่... ไม่น่าถามนะ หน้าเหมือนกันปานคลานตามกันมาซะขนาดนั้น


โดยส่วนตัวแล้วเราเป็นคนชอบดูอะไรก็ตามที่เป็นคอมเมดี้มาก โดยเฉพาะซิทคอมนี่ดูแทบทุกเรื่อง แต่เรารู้จักเฟย์จริงๆ ก็ตอนได้ดู Mean Girls นี่แหละ มันเป็นหนึ่งในหนังตลกในดวงใจตลอดกาลของเราด้วยความที่บทมันฉลาด จิกกัดสังคมไฮสคูลของอเมริกันชนได้ถึงพริกถึงขิง ที่สำคัญมันน่าติดตาม และตลกมากๆ ด้วย ในเรื่องนี้เฟย์รับบทเป็นครูประจำชั้นของนางเอกซึ่งบทไม่เด่นอะไรนัก จนมาทีหลังเราได้รู้ว่าแม่คนนี้นี่เองที่เขียนบท หลังจากนั้นก็เลยลองดู Saturday Night Live ที่รีรันในทีวีตอนเราไป Work & Travel ซึ่งก็ขำมากๆ (เฉพาะมุกที่เราฟังรู้เรื่องอะนะ) ความประทับใจในตัวเฟย์ก็เลยยิ่งเพิ่มพูนซึ่งประจวบเหมาะพอดีกับตอนที่มีคนแนะนำให้เราดูคอมเมดี้ซีรีย์ส 30 Rock เท่านั้นแหละ ปรอทแตกครับท่านผู้ชม มันเป็นซีรีย์สที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งทั่วทั้งหล้านี้ บทของมันทั้งตลก วิพากษ์สังคมในขอบเขตที่กำลังน่ารัก และไม่พยายามทำตัวให้ดูฉลาดเกินกว่าที่มันควรจะเป็น


ชีวิตของเฟย์อาจฟังไม่ดราม่าเท่าไหร่เพราะมันไม่ได้เต็มไปด้วยเรื่องราวอันแสนเศร้าหรือสอนบทเรียนชีวิตแสนลำเค็ญจนต้องให้คุณไตรภพมามอบรถเข็นให้ เธอเรียนจบการละครและเรียนต่อที่ The Second City สถาบันสอนอิมโพรไวซ์คอมเมดี้ชื่อดังที่ซึ่งเฟย์มุ่งหน้าสู่เส้นทางของบทตลกอย่างเต็มตัว จนในที่สุดเธอก็ได้เข้าร่วมทีม SNL และกลายเป็นหัวหน้าทีมเขียนบทในเวลาต่อมา บทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากเฟย์ก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำได้ดีไปกว่าสิ่งที่เรารู้จักดีที่สุด ใน 30 Rock เฟย์เขียนให้ตัวเองมารับบทลิซ เลมอน หัวหน้าทีมเขียนบทของคอมเมดี้โชว์ทางทีวีเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ่ายทำในสตูดิโอใน 30 Rockfeller Plaza ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง และแน่นอนก็มีเรื่องราววุ่นๆ เกิดขึ้นมากมายในสำนักงานแห่งนี้ คงไม่ต้องเดาให้ยากว่าเฟย์แต่งเรื่องพวกนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากประสบการณ์ตรงสมัยทำงานใน SNL ซึ่งในที่สุดก็เป็นผลงานชิ้นนี้เองที่ส่งให้เธอกลายเป็นนักเขียนบทมือทองของวงการจอแก้วอเมริกา


Find out who you really are
Utada Hikaru

อูทาดะ ฮิคารุ ศิลปินสาวชาวญี่ปุ่นอายุ 26 ปีผู้ครองตำแหน่งมีอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น First Love อัลบั้มแรกของอูทาดะในวัยสิบหกขายได้กว่า 7 ล้านก๊อปปี้ทั่วญี่ปุ่น ส่งให้เธอกลายเป็นซูเปอร์สตาร์เพียงชั่วข้ามคืน จนมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่อูทาดะยังคงรักษาตำแหน่งศิลปินแถวหน้าของญี่ปุ่น คงจะไม่เกินจริงไปนักหากกล่าวว่ามันจะคงบ้ามากถ้าจะมีชาวญี่ปุ่นคนไหนที่ไม่รู้จักชื่อของเธอ


ความสำเร็จของอูทาดะนั้นมากมายหลายหลากจนยากที่จะพรรณนาที่นี่หมด ฉะนั้นจะขอเปลี่ยนเรื่องมาพูดถึงเนื้องานของเธอแทน ด้วยชาติกำเนิดจากครอบครัวนักดนตรีขนานแท้เพราะพ่อของเธอเป็นโปรดิวเซอร์ ส่วนแม่ก็เป็นนักร้องเพลงพื้นบ้านชื่อดังของญี่ปุ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่อูทาดะจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการทำเพลง ตั้งแต่แต่งทำนอง เนื้อร้อง ไปจนถึงเรียบเรียงดนตรี เนื้อเพลงของเธอมีความหลากหลายได้ทั้งลึกซึ้งกินใจ สนุกสนาน หรือแม้แต่เสียวซ่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ เรียกว่าอ่านปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าใครแต่ง แต่ใครจะเชื่อว่าเจ้าของเนื้อร้องที่สามารถสร้างผลกระทบให้กับคนฟังได้อย่างรุนแรงคนนี้กลับรู้สึกว่าเธอ ...ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร


อูทาดะเกิดในมหานครนิวยอร์คและใช้ช่วงชีวิตในวัยเด็กสลับไปมาระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น เธอจึงรู้สึกเสมอว่าตัวเองเป็นคนนอกไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และด้วยวัยเพียง 19 อูทาดะตัดสินใจแต่งงานกับสามีผู้กำกับภาพยนตร์ที่อายุมากกว่าเธอเป็นรอบ และจบลงด้วยการหย่าร้างเมื่อเธออายุได้ 24 ในบทสัมภาษณ์หนึ่งเธอเล่าว่าสามีชอบเฝ้าแต่ถามเธอว่าคุณต้องการอะไรในชีวิต คำตอบกลับมีแต่เพียงความเงียบไม่ใช่เพราะเธอไม่อยากตอบ แต่เป็นเพราะไม่รู้จะตอบว่าอะไร เธอตระหนักว่าลึกลงไปแล้วเธอกลับไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าความต้องการของตัวเองคืออะไร ไม่เคยวางแผนใดๆ ในชีวิต และท้ายที่สุดไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร เธอกล่าวว่าผลงานเพลงที่เธอเคยเขียนแม้จะฟังดูลึกซึ้งและคมคายเพียงใด สำหรับเธอก็เป็นเพียงผลผลิตจากความพยายามของเด็กสาวผู้ไม่เคยมั่นใจในตัวเองเท่านั้น แต่หลังจากการหย่างานเพลงของอูทาดะก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน มันฟังง่าย สว่างสดใสขึ้น และที่สำคัญคือจริงใจขึ้น วุฒิภาวะที่พ้นผ่านทำให้อูทาดะเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักกับตัวเอง เธอโอบกอดความหมายของชีวิตและเติบโตอย่างมั่นใจโดยให้ความว่างเปล่าในอดีตทำหน้าที่เป็นบทเรียน


สำหรับเรา จากที่เคยแค่ชื่นชมงานเพลงของเธอ พอได้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แล้วอูทาดะก็ไม่ได้อยู่ๆ กลายเป็นฮีโร่ของเราซะเฉยๆ เพียงแต่รู้สึกเหมือนมีเธอเป็นเพื่อนร่วมทางมากกว่า เราเชื่อว่าทุกคนล้วนต้องเคยรู้สึกถึงพื้นที่ว่างในจิตใจและถามตัวเองว่าเราเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร คำตอบที่เหมาะสมและไม่หลอกตัวเองอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อค้นหา แต่ไม่มีวันสายเกินไปที่จะเริ่มต้นการเดินทางนี้ อูทาดะเองยังหาคำตอบไม่พบ เราเองยังหาคำตอบไม่พบ แต่ก็ยังเชื่อเสมอว่าเมื่อประสบการณ์ขัดเกลาเราให้เจริญเติบโตเพียงพอ สุดท้ายแล้วคำตอบที่จะเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตจะต้องมาถึง


คุณค่าทางจิตใจเหนือสิ่งอื่นใด
ปู่

ปู่ของเราเป็นครู ชาวนา และเป็นคนที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เกิด ปู่อายุ 87 ปีแล้วแต่ยังคงแข็งแรง ปู่ชอบขี่จักรยานไปไหนมาไหนเองทุกวัน เราได้สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของปู่มาตลอด แม้ปู่จะไม่ได้ประสบความสำเร็จร่ำรวยล้นฟ้า แต่สำหรับเราปู่เป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข


ตั้งแต่เราจำความได้ ปู่จะเป็นคนแรกที่เราเห็นทุกเช้ามืดที่ตื่นขึ้นมา พ่อแม่เราออกไปทำงานตั้งแต่ก่อนที่เราจะตื่นเพราะต้องเดินทางไกล เราจะลุกจากเตียงแล้วหอบผ้าห่มมานอนที่ห้องนั่งเล่นแล้วเปิดทีวีทิ้งไว้ ระหว่างนั้นเองปู่ก็จะเดินวนเวียนไปกลับระหว่างบ้านเรากับบ้านปู่กับย่า เตรียมอาหารเช้าให้เรา หรือไม่ก็ออกไปกวาดใบไม้ที่ลานหน้าบ้าน พอได้เวลาปู่จะบอกให้เราไปอาบน้ำแล้วมากินข้าว ปู่จะหิ้วกระเป๋านักเรียนเราออกไปยืนรอรถโรงเรียนตรงทางเดินหน้าบ้าน กินข้าวเสร็จเราก็ออกไปยืนรอรถกับปู่ เช้าบางวันอย่างในหน้าหนาวที่ฟ้ายังไม่ทันจะสว่างก็จะเห็นเป็นไฟสองคู่ของรถโรงเรียนส่องมาจากหน้าปากซอย ปู่ก็จะเดินไปส่งเราขึ้นรถ พอตกเย็นรถโรงเรียนจะมาส่งเราหน้าบ้านเหมือนเดิมที่ซึ่งปู่จะยืนคอยเราอยู่ก่อนแล้วทุกวัน ปู่จะช่วยเรายกกระเป๋าเดินเข้าบ้าน อาหารว่างอย่างลูกชิ้นหรือไส้กรอกปิ้ง บางทีก็เป็นน้ำเต้าหู้ที่มีปาท่องโก๋แช่อยู่จะวางอยู่บนโต๊ะ เราจะกินไปทำการบ้านไปโดยมีปู่นั่งดูทีวีอยู่บนโซฟาด้านหลังเรา บางวันที่พ่อแม่เรากลับดึกปู่ก็จะไปอาบน้ำที่บ้านก่อนแล้วมานั่งอยู่เป็นเพื่อนเรา จนกระทั่งพ่อแม่เรากลับมาปู่ถึงจะกลับบ้านไปเข้านอน และเช้าต่อมาเราก็จะได้พบปู่อีกครั้ง


แต่ละวันของการปิดเทอมเราจะได้มีโอกาสเห็นปู่ทั้งซักผ้า สอยมะม่วง เปิดประตูกั้นน้ำให้น้ำไหลเข้าสวน ตักน้ำจากท้องร่องรดต้นไม้ เสียงที่เราคุ้นเคยที่สุดก็คือเสียงไม้กวาดทางมะพร้าวกระทบพื้นซีเมนต์หน้าบ้านขณะที่ปู่กวาดใบไม้ และภาพที่เราเห็นจนชินตาคือภาพของปู่กำลังขี่จักรยาน ตอนเด็กๆ เรามักจะซ้อนท้ายปู่เข้าไปร้านขายขนมข้างๆ วัดแล้วซื้อขนมปูไทยกิน จักรยานของปู่พาปู่ไปทุกแห่ง เราถึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปู่ถึงได้แข็งแรงขนาดนี้ เรารู้สึกว่าปู่เท่มากๆ เวลาเราได้ไปงานบุญหรืองานศพที่ต้องพบปะผู้คนหลายหลากแล้วทุกคนล้วนเรียกปู่ของเราว่าครู เวลาปู่อยู่กับย่า ทั้งสองมักจะเถียงกันเล็กๆ น้อยๆ เสมอ แต่ปู่กลับไม่เคยบ่นเลยสักครั้งเวลาย่าใช้ให้ไปซื้ออะไร สำหรับเราแล้วปู่กับย่าคือนิยามของคำว่าคู่ชีวิต เพราะมันคงจะต้องวิเศษมากแน่ๆ ถ้าเราจะมีใครสักคนที่ร่วมชีวิตกับเรา และเติมเต็มความสุขให้แก่กันแม้ในยามแก่ชรา และเราก็อยากมีโอกาสได้มอบความรักและความเสียสละให้กับใครโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แบบเดียวกับที่ปู่ทำให้เรารู้สึกตลอดมา แม้สักครั้งในชีวิตก็ยังดี


ตอนนี้แม้เราจะไม่ได้มีโอกาสอยู่กับปู่แบบเดิม แต่สิ่งที่เรายังพอทำได้ก็คือตั้งใจเรียน ไม่ไว้ผมยาว และไปเยี่ยมปู่กับย่าอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะสำหรับเราปู่คือคนสำคัญ ปู่สอนให้เราเห็นถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของคุณค่าทางจิตใจ เลี้ยงดูเรามาจนเราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ และไม่ว่าจะเกิดอะไรเราก็ยังจะเป็นเด็กบ้านนอกหลานปู่คนเดิม